บทที่ ๕

บทที่ ๕ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

ผู้แต่ง  

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์  (เจ้าฟ้ากุ้ง)

ลักษณะคำประพันธ์        กาพย์ห่อโคลง  คำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลง มีลักษณะทางฉันทลักษณ์ดังนี้ ขึ้นต้นด้วยกาพย์ยานี  ๑ บท แล้วตามด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บทใจความเหมือนกัน กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง นั้นมีกาพย์ยานีและโคลงสี่สุภาพรวม ๑๐๘ คู่ และโคลงปิดท้ายมี ๒ บท

จุดประสงค์ในการแต่ง       เป็นบทชมธรรมชาติ เพื่อความเพลิดเพลินในการเดินทาง

ที่มาของเรื่อง                    หนังสือปริทรรศน์ วรรณคดีไทยของนายตำรา ณ เมืองใต้

เนื้อเรื่อง
บทที่ ๑
            ขบวนเสด็จของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จเคลื่อนออกจากวังอย่างสมพิธี เต็มไปด้วยผู้ตามเสด็จมากมาย ทรงช้างพระที่นั่ง ชื่อว่า เทพลีลา
บทที่ ๒ - ๕
            ในการเสด็จประพาสธารทองแดงครั้งนี้ ขบวนเสด็จได้รับการจัดอย่างสมพระเกียรติ มีเครื่องสูงพร้อมเพรียง เหล่าพลทหารถือ ธงนำหน้างามไสว ขุนนางเป่าปี่ประกอบขบวนเสด็จแสนไพเราะเหมือนเสียงร้องของนกการเวก
บทที่ ๖
            เมื่อขบวนเสด็จเคลื่อนคล้อยเข้าแนวป่า ทอดพระเนตรเห็นฝูงช้างใหญ่น้อยหลากหลายพันธุ์ลงเล่นน้ำอยู่อย่างสำราญ
บทที่ ๗ - ๑๐๗
            เป็นการพรรณนาถึงความงามของธรรมชาติรอบตัว พร้อมทั้งบอกสิ่งที่พบเห็นว่าประกอบไปด้วย กระบือ กวาง เนื้อทราย หมูป่า หมาใน(สุนัขจิ้งจอก) กระทิง หมี เสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว ลมาด โค ฟาน ลมั่ง สิงคนัด เลียงผา งู เม่น กระต่ายป่า หลายพันธุ์ กระจง ลิง ชะนี ค่าง บ่าง งูเขียว ตุ๊กแก นกยูง นกเขา นกกด ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกหว้า พังพอน งูเห่า หนูป่า นกแก้ว นกสาลิกา นกกระตั้ว นกแขกเต้า นกโนรี นกกระจิบ นกกางเขน นกขมี้น นกคุ่ม พรรณไม้ต่างๆ เช่น พุทธชาต มะยม สาเก ซร้อง-นาง  เล็บมือนาง ชงโค กล้วยไม้ ทองกวาว ลำใย ตะเคียน หมากม่วง ไทร หัวลิง หงอนไก่ ชมสัตว์น้ำ ปลาเทโพ ปลาเทพา ปลาตะเพียน ปลากา ปลาอ้ายบ้า ปลาสลุมพร(ปลาเนื้ออ่อน) ปลาม้า(ปลาหางกริ่ว) ปลาหนวดพราหม ปู กุ้ง หอยโข่ง หอยขม และหอยตาวัว
บทที่ ๑๐๘
             เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเพียรพยายามแต่งไว้ใช้ชนรุ่นหลังอ่านกันสืบไป อันเป็นการสรรเสริญเทิดพระเกียรติพระองค์ที่ล้ำเลิศใน เชิงกวีตลอดไป
บทที่ ๑๐๙
             กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงได้แต่งจนจบบริบูรณ์เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จกลับวัง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรได้ขัดเกลาจนมีเนื้อความสมบูรณ์เพราะพริ้ง โดยหวังให้ชนรุ่นหลังได้มีโอกาสชื่นชมผลงานของพระองค์ และเก็บรักษาให้เป็นสมบัติของชาติสืบไป
บทปิดท้าย          
            กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงนี้ได้เรียบเรียงด้วยถ้อยคำอันไพเราะยิ่งนัก ผู้มีความรู้ในเชิงกวีจะอ่านได้อย่างไพเราะยิ่ง หากผู้ใดไม่มีความรู้ในเชิงกวีสักแต่ว่าอ่านไปตรงๆ ไม่รู้จักลีลาในการอ่านแล้ว จะทำให้คุณค่าในงานนิพนธ์ชิ้นนี้เสื่อมเสียไปได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้